*ไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่ไม่รู้ตัว

ในปัจจุบันการดำรงชีวิตของคนเราเปลี่ยนแปลงไป มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารไขมันสูงมากขึ้น ขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้พบผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ตับ เป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ในร่างกาย อยู่ในช่องท้องบริเวณด้านบนขวาใต้ซี่โครง ตับมีหน้าที่สำคัญ ได้แก่

ช่วยในการเผาผลาญอาหารที่เรารับประทานเข้าไป โดยเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตให้เป็นน้ำตาล เปลี่ยนไขมันให้เป็นพลังงานช่วยเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ทำลายสารพิษต่างๆ ไม่ว่าจะจากกระบวนการเผาผลาญของร่างกายเอง หรือจากสิ่งที่เรานำเข้าสู่ร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น สังเคราะห์โปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นในร่างกาย

จะเห็นได้ว่าตับมีความสำคัญต่อกระบวนการทำงานในร่างกายคนเราเป็นอย่างมาก และเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย หากได้รับเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ ยา แอลกอฮอล์ สารเคมีหรือสารพิษต่างๆ รวมถึงไขมันที่มากเกินไป ตับก็อาจเกิดปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นตับอักเสบ ตับแข็ง ไขมันพอกตับ หรือมะเร็งตับ

ไขมันพอกตับ เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่เรารับประทานไปใช้ได้หมด จนทำให้เกิดการสะสมอยู่ที่ตับเป็นจำนวนมาก โดยไขมันส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งมาจากอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมัน

ภาวะไขมันพอกตับ แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุ คือ

  • จากแอลกอฮอล์
  • ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญที่สุดคือ การรับประทานอาหารจำพวกอาหารมัน อาหารหวาน หรืออาหารคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป อาหารเหล่านี้จะไปเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ในตับ เมื่อร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้หมด ก็จะเกิดการสะสมขึ้นที่ตับในที่สุด

พบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้มากขึ้น อาทิ ภาวะอ้วน น้ำหนักตัวเกิน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมถึงโรคต่างๆ ของตับเอง เช่น โรคตับอักเสบ การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อตับ ภาวะเหล็กเกินในตับ เป็นต้น ทั้งนี้ หากต้องการทราบว่าตัวเราเองมีความเสี่ยงของภาวะไขมันพอกตับหรือไม่ อาจพิจารณาได้จาก

  • รอบเอว ในผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 40 นิ้ว และผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 35 นิ้ว อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับได้
  • น้ำตาลในเลือดซึ่งสูงมากกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ไขมันไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ไขมันชนิดดีหรือ HDL cholesterol ต่ำ (โดยปกติแล้วค่า HDL cholesterol ยิ่งสูงยิ่งดี ในผู้ชายควรมีค่า HDL cholesterol มากกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และในผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
  • ความดันโลหิตสูง นอกจากจะเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังเป็นตัวกระตุ้นให้มีไขมันพอกตับมากขึ้นด้วย

โดยทั่วไปแล้ว ภาวะไขมันพอกตับจะมีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป เปรียบเสมือนภัยเงียบที่ค่อยๆ ทำร้ายร่างกายเราโดยไม่รู้ตัว โดยมากผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับจึงไม่มีอาการแสดง มักทราบว่ามีความผิดปกติก็เมื่อมาตรวจสุขภาพประจำปีหรือมาตรวจร่างกายด้วยปัญหาอื่น ยกเว้นในกรณีที่โรคเริ่มดำเนินไปจนเกิดภาวะตับอักเสบ ผู้ป่วยอาจมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติได้ ทั้งนี้ในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับพบว่ามีปัญหาตับอักเสบ 10-20% ซึ่งเมื่อไรที่มีตับอักเสบ ก็จะมีความเสี่ยงของตับแข็งและมะเร็งตับตามมา ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับจึงไม่ควรละเลยการรักษาและการดูแลตนเอง

สำหรับการรักษาภาวะไขมันพอกตับ ขึ้นกับระยะของโรคว่าอยู่ในระยะใด ซึ่งการรักษาภาวะไขมันเกาะตับในระยะที่ยังไม่มีการอักเสบ จะแตกต่างจากระยะที่มีตับอักเสบหรือตับแข็งแล้ว โดยทั่วไปการรักษาภาวะไขมันเกาะตับที่สำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนวิธีการดำรงชีวิตและพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รวมถึงการแก้ไขต้นเหตุของความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ความดันโลหิตสูง ส่วนการใช้ยาในการรักษา แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับ และผู้ที่ต้องการป้องกันตนเอง ลดความเสี่ยงของภาวะไขมันพอกตับ

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการรับประทานอาหารให้เหมาะสม ถูกสัดส่วน คือ เน้นการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น รับประทานอาหารจำพวกแป้ง ไขมัน และน้ำตาลให้น้อยลง
  • ลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก การลดน้ำหนักเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์มากสำหรับการรักษาภาวะไขมันพอกตับ พบว่า ถ้าลดน้ำหนักลงได้ 5-10% จะทำให้ภาวะไขมันในตับลดลง และถ้าน้ำหนักลดลงมากกว่า 10% จะทำให้การอักเสบของตับซึ่งเกิดจากภาวะไขมันพอกตับดีขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป การลดน้ำหนักที่เหมาะสมจะต้องค่อยๆ ลด โดยมีเป้าหมายคือ 0.5-1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
  • ตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบ ในกรณีของผู้ที่เป็นโรคตับอยู่แล้ว ควรตรวจดูว่าตนเองมีภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัสตับอักเสบหรือไม่ หากไม่มีควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจดูค่าการทำงานของตับและปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับ

เรียบเรียงโดย พญ.พวงเพ็ญ สิริสุวรรณทัศน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

สอบถามเพิ่มเติม/ติดตามข่าวสาร/สั่งซื้อได้ที่
✔️Line : https://bit.ly/2mLpi6O
✔️FB : www.facebook.com/inwiangvalley/

ชาสมุนไพร จากสวนในเวียง
เพราะการป้องกันสำคัญกว่าการรักษา